ปัญหาเดียวที่แก้ไม่ตกของเกษตรกรไทย คือ ภัยจากธรรมชาติ อาทิ ภัยแล้งและน้ำท่วม ซึ่งเกษตรกรที่ทำนาในหลายพื้นที่ ได้เลิกทำนาปรัง แล้วหันมาปลูกพืชน้ำน้อยทดแทน บางรายมีรายได้มากกว่าปลูกข้าวเสียอีก
เช่นเดียวกับคุณนงลักษณ์ สิงห์แอ้ซ์ เกษตรกรจังหวัดพิจิตร วัย 65 ปี หันมาปลูกมันญี่ปุ่น และมันเทศอีกหลายๆ สายพันธุ์ สลับกับทำนาปรัง ซึ่งมันญี่ปุ่นใช้น้ำน้อย สู้ภัยแล้งได้ดี ทำเงินได้ทั้งปี
คุณนงลักษณ์ เผยว่า เป็นเกษตรกรปลูกข้าวมาตลอดทั้งชีวิต เดิมทำนาปี ปลูกข้าวหอมมะลิ พื้นที่ 36 ไร่ กระทั่งประสบปัญหาภัยแล้งน้ำน้อย เคยแก้ปัญหาด้วยวิธีไปซื้อน้ำบาดาล ระยะหลังสู้ราคาไม่ไหว เลยปรับมาเป็นนาปรัง และปลูกมันญี่ปุ่นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ลักษณะเป็นการปลูกสลับกับการทำนาข้าว
สำหรับจุดเริ่มต้นที่คุณนงลักษณ์คิดอยากปลูกมันญี่ปุ่น เธอบอกว่า น้องสาวกลับจากประเทศญี่ปุ่น โดยซื้อมันญี่ปุ่นมาด้วย 5 กิโลกรัม ในราคา 600 บาท จึงทดลองปลูก เพราะขายได้ราคาดี ใช้ระยะเวลาปลูกไม่นานมากเพียง 95 วันเท่านั้น หนที่สุด เลยทดลองปลูก
“ช่วงเดือนพฤศจิกายนเป็นช่วงที่เก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิ เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว จะเตรียมแปลง เพื่อลงมันญี่ปุ่นและมันสายพันธุ์อื่นๆ อาทิ มันเหลืองเกาหลีใต้ มันม่วงญี่ปุ่น พันธุ์แคร์รอตไทย โดยมันญี่ปุ่นจะต้องทำการเตรียมดินโดยการไถแปร ตากหน้าดินทิ้งไว้เป็นเวลา 10 วัน เมื่อครบ 10 วัน นำมันญี่ปุ่นมาลงปลูก โดยปักชำลงดิน ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทราย ส่วนระบบน้ำ ใช้ระบบน้ำหยด ต้นทุนต่อไร่ 25,000 บาท ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ปลูกไป 95 วันสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้”
ในระยะเวลา 1 ปี คุณนงลักษณ์จะปลูกมันเทศ 2 ช่วง คือ ช่วงเดือน พ.ย. – ม.ค. ผลผลิตได้เกือบ 5 ตัน และช่วง มี.ค. – พ.ค. ซึ่งช่วงนี้อากาศค่อนข้างร้อน บางปีประสบปัญหาภัยแล้ง ได้ผลผลิตไม่มากราว 2 ตันเท่านั้น
ด้านตลาดที่รับซื้อ คุณนงลักษณ์ เผยว่า มีทั้งขายปลีกเอง และมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อ ขายในราคากิโลกรัมละ 15 – 20 บาท รายได้เฉลี่ยประมาณไร่ละ 75,000 – 75,000 บาท รายได้ตรงนี้ช่วยในเรื่องของการปลดหนี้ จนชีวิตครอบครัวดีขึ้น เป็นอาชีพเสริมที่สอดคล้องกับการทำนาได้เป็นอย่างดี เพราะหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตมันญี่ปุ่นเสร็จก็จะเป็นช่วงเตรียมดินเพื่อปลูกข้าวนาปีในฤดูกาลถัดไปพอดี
ขอขอบคุณ sentangsedtee.com